วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Review แอมป์พกพาเสียงยอดเยี่ยมกับ Graham Slee Voyager

Graham Slee Voyager






หลังจากใช้เวลาในการเบี้ยวไม่ยอม review อยู่หลายวัน จนเจ้าของตัวจริงอย่างคุณเจงน่าจะลืมไปแล้วว่าแอมป์ตัวเองหายไปไหน ( ก็ขอให้ลืมต่อไปครับ )ในที่สุดผมก็ยอมมาเขียน review ให้ซะที ซึ่งตอนกำลังจะเริ่มพิมพ์ ก็มี review แอมป์ตัวเดียวกันโดยคุณ Narishane ลอยไปลอยมาอยู่บนหัวอยู่แล้ว ครั้นใจไม่ review ก็ไม่ได้ เพราะผมรับปากไปแล้ว แถมขโมยแอมป์มาแล้วด้วย ก็เลย review กันซักที

เห็นแบบนี้ผมไม่ได้เอามาดองนะครับ เพียงแต่ผมต้องใช้เวลาพิจารณามันนิดนึง


เริ่มแรกที่ผมรู้จักแอมป์ตัวนี้ มันเริ่มเมื่อตอนที่ได้เข้าไปอ่านใน head-fi ครั้งแรก แล้วมีชื่อแอมป์ตัวนี้ พร้อมด้วย logo นกพิราบจอห์นวูบินถลาเล่นลมอยู่บนกล่อง มันทำให้ผมเริ่มสนใจในแอมป์ตัวนี้ ยิ่งๆหลังๆ มันกลายเป็นแอมป์พกพาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งอยู่ช่วงนึง ( ไม่แน่ใจว่าช่วงนี้เป็นไง พอดีไม่ได้เข้าไปในส่วนของแอมป์เลย..) ทำให้ผมยิ่งอยากพบตัวจริงมันมากๆ แล้วในที่สุดผมก็ได้เจอ

หนแรกที่ผมเห็น ซึ่งเจ้าของก็คือ WindowX หรือ MVP หรือ กำนัน ที่เรารู้จักกันดี เป็นผู้ที่สอยมาครอบครอง แกหยิบออกมาจากกระเป๋าช้าๆ อารมณ์ประมาณชักดาบซามูไรออกมาจากฝัก แล้วก็ยื่นมา่ให้อย่างภาคภูมิใจ ผมก็มองอย่างงงๆและสงสัยว่า แกจะหยิบ headstage มาให้ผมลองทำไม.. ผมมีของผมเองแล้ว เกรงใจ.. แกก็คยั้นคะยอให้ผมลอง ผมก็ไม่อยากจะฟัง เพราะ headstage ก็ฟังกันอยู่ทุกวัน ติดใจนิดหน่อยตรงกล่องมันยาวขึ้น คิดว่าแกคงสั่งโมเพิ่มเป็นถ่าน 9V สองก้อน รังถ่านมันเลยยาวกว่าเดิม เป็นผลให้แอมป์ยางมากขึ้น แถมยังไปเอาจุกขี้เหร่มาใส่แทนจุกเดิมอีก ก็เลยทำเป็นเมินๆไม่สนใจ
แต่ WindowX เป็นคนไม่ชอบเซ้าซี้บังคับใคร ในเมื่อผมทำท่าไม่ชอบไม่สนใจ แกก็รีบจับยัดใส่มือ จับสาย mini-mini เสียบ แล้วหยิบเอา W2002 มาให้ใส่ลอง.. พอเห็นผมทำท่าจะลุกหนี แกก็จับเอา W2002 ยัดใส่หัวทันที แล้วก็เอามีดจี้ที่ต้นคอ แล้วพูดเสียงเบาๆแหบๆต่ำบังคับล่อลวงให้ผมฟังให้ได้ ผมจึงต้องทนฟังอย่างเสียมิได้.... ( กรุณาหารสองก่อนจะเชื่อเป็นตุเป็นตะไป )

เสียงที่ออกมาจาก W2002 มันช่างแตกต่างจากตอนที่ลองกับ LisaIII มากมาย จนผมต้องหยิบแอมป์มาพลิกดู เพราะสงสัยว่าทำไม Headstage มันดีจัง ว่าจะเอ่ยปากชม.. แต่ก็ต้องชะงักซะก่อน เพราะ Logo อันแสนคุ้นเคยลอยเด่นเป็นสง่าตัดกับสภาพความขี้เหร่ของกล่องโดยรอบ พอเห็นชื่อ Graham Slee ก็ยิ่งตกใจใหญ่ เพราะเป็นแอมป์ที่อยากจะลองมาแสนนานแล้ว ถึงแม้จะผิดหวังกับวัสดุที่แกเลือกมาใช้ แต่จุดสำคัญของแอมป์มันอยู่ที่ "เสียง" มากกว่า Design ดังนั้นผมจึงเทความสำคัญไปให้ที่คุณภาพโดยรวมจากภายใน มากกว่าภายนอก ซึ่งการฟังครั้งแรก มันก็ไม่ได้ทำให้ผมผิดหวังเลย ( เรื่องเสียงนะ )

หลังจากนั้นอีกนานเลยทีเดียว ผมก็ได้มีโอกาสมาฟังเต็มๆอีกครั้ง โดยมีคุณเจงเป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์ ทำให้ผมมีโอกาสได้คลุกคลีกับมันทั้งวัน จนหยิบเอามาเขียนเป็น review ชุดนี้ได้



มาดูกันที่งานภายนอก

ตัว Case ของ Voyager เป็นพลาสติกเกรดดีเนื้อแข็งและหนา เป็นพลาสติกชนิดที่มีความยืดหยุ่นเล็กน้อย ไม่ได้เป็นประเภทแข็งจนกรอบ ดังนั้น การหล่นลงพื้น ไม่ทำให้ Case แต่ง่ายๆแน่นอน ด้านข้างเป็นงาน Hand Made ล้วนๆ เพราะต้องเจาะเป็นช่องให้สวิตซ์โผล่ เนื่องจากอาศัยกล่องสำเร็จรูปในการผลิต ไม่ได้เป็นกล่องสั่งเฉพาะจากโรงงาน เลยต้องทนลำบากนิดหน่อย จะมีดีก็ตรง Plate ยี่ห้อ Graham Slee ที่ทำมาอย่างดี เห็๋นอย่างงี้แต่อุปกรณ์อื่นๆก็ใช้ของดีๆนะครับ อย่างช่องเสียบไฟจากภายนอก ก็เป็นของ Switchcraft แถมยังมีช่องเสียบ USB มาให้ด้วย เสียงตรงมันไม่มี DAC ในตัว ดังนั้น USB เลยกลายเป็นช่องสำหรับรับไฟเท่าันั้นเอง การเจาะตัดแต่งอะไรก็ถือว่าเรียบร้อย แม้จะไม่เนี๊ยบเท่าการทำโม หรือ การใช้เครื่องเจาะโดยตรง แต่ก็ถือว่าโอเคแล้วล่ะครับ ปุ่ม Volume Control ก็มี step การหมุนที่นิ่มนวล

การปรับพื้นฐานมีเพียงปุ่ม Contour เท่านั้น นอกนั้นก็เป็นปุ่มปรับการรับไฟว่า จะใช้เป็นถ่าน 9V หรือ รับไฟจากแหล่งอื่นอย่างหม้อแปลง และ USB การ Design ที่มีแหล่งรับไฟจาก USB แบบนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า แอมป์ตัวนี้เหมาะสำหรับใช้่งานร่วมกับคอมพิวเตอร์และ notebook





การใช้งานทั่วไป


แอมป์ตัวนี้ค่อนข้างมีพื้นฐานที่แปลก ถ้ามองกันเฉพาะในด้านวงจรก็เป็นการออกแบบโดยยึดพื้นฐานของ C-Moy เป็นหลัก แต่กล้าที่จะขายราคาแพง ทั้งๆที่กล่องภายนอกเป็นกล่องแบบถูกๆ แถมวงจรยังเป็นวงจรที่ปรับจูนขึ้นมาจาก C-Moy แต่กลับสามารถปรับแต่งจนมันให้คุณภาพเสียงที่อยู่ในระดับที่ดีมากๆได้ ( เหมือนที่ Oritek เอา Zhaolu มาจูน ) และด้วยความที่ใช้่วงจรพื้นฐานอย่าง C-Moy เป็นหลัก มันจึงเป็น Class AB อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งข้อดีของแอมป์ประเภท Class AB ก็คือการให้เสียงย่านกลางและต่ำที่ดี ซึ่งแอมป์ตัวนี้ก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ เพราะมันให้คุณภาพย่านต่ำและกลางในที่ดีในแบบของมัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพเสียงสูงเสียหายแต่อย่างใด ถ้าพูดถึงโดยรวมจัดว่าเป็นแอมป์ที่ให้คุณภาพเสียงที่ดีตัวนึงเลยทีเดียว และเป็นแอมป์ที่ค่อนข้างอ่อนไหวไปกับคุณภาพสาย mini-mini ที่นำมาต่อพอสมควร ดังนั้นถ้าได้สายดีๆมาต่อจะช่วยเสริมคุณภาพของเสียงได้อีกระดับเลยทีเดียว

ตัว Voyager ไม่ได้เป็นแอมป์ที่ให้กำลังขับอลังการงานสร้างอะไรมากมายนัก แม้จะมี Mode Contour ที่ช่วยเพิ่มกำลังของเสียงให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่จะการทดลองดูปรากฏว่า เวลาใช้กับถ่าน 9V นั้น ตัว Contour จะมีอาการ distortion ถ้าเร่ง Volume มากจนเกินไป คล้ายๆกับว่ากำลังไฟจากถ่านมันไม่พอที่จะไปเลี้ยง แต่ใช้กับ USB ไม่ค่อยมีปัญหา แถมตัว contour ยังไปเร่งย่านเสียงสูง และเสียงเบสให้ออกมามากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เสียงโดยรวมออกจัดจ้านและเบสอลังการ ดังนั้น ถ้่าไม่จำเป็นก็อย่าใช้จะดีกว่าครับ

Voyager จึงเหมาะสมที่จะใช้กับหูฟังไม่กินกำลังขับมากจนเกินไป ระดับที่รับได้เต็มที่คือ 100x2 โอห็ม แต่ต้องบิด Volume จน Max ครับ

ตัวแอมป์เองก็ใช้ไฟเลี้ยงไม่มากมายนัก ถ่าน 9V ธรรมดา 1 ก้อน สามารถใช้ได้ยาวนานต่อเนื่อง เรียกว่า ถ้าใช้งานกันแบบทั่วๆไป น่าจะใช้ได้เกินกว่าอาทิตย์ด้วยซ้ำครับ ผมเคยลองเปิดทิ้งข้ามคืน ก็ยังไม่สะเทือนอะไรครับ ถ้าเป็น Headstage ล่ะก็ แบตอ่อนไปแล้ว




มาว่ากันที่เรื่องเสียง


แอมป์ตัวนี้ให้โทนเสียงที่ออกนุ่มนวล ในกรณีที่ใช้กับ mode FLAT แต่จะให้เสียงที่กร้าวร้าวรุนแรง ถ้าปรับไปที่ Mode Contour ถ้าใช้กับหูฟังที่ให้เสียงจัดๆหน่อย โดยเฉพาะหูฟังที่ขอบเสียงสูงออกไปทางแห้งๆ แบนๆ แตกๆ ตัว Voyager จะช่วยเกลาขอบเสียงเหล่านั้น ให้มีความกลมมนมากขึ้น ดังนั้นปลายเสียงสูงจึงไม่จัดจ้าน และมีความนุ่มนวลชวนฟัง แต่ก็ไม่ได้ทำลายความชัดเจนและ Dynamic-Impact ของย่านเหล่านั้นเหมือนกับวงจร C-Moy ทั่วๆไป ดังนั้น ถ้าใครมีหูฟังที่จัดจ้านมากเกินไปหน่อย เอาใช้ร่วมกับ Voyager จะเหมาะมากๆครับ

เสียงเบสที่ได้จาก voyager จะมีรูปร่างที่ดีกว่าเดิม เนื้อเบสมีความหนาแน่นขึ้นอย่างรู้สึกได้ โดยเฉพาะช่วง Middle เบส ในขณะที่ Deep เบส จะถูกทำให้กระชับขึ้นอีกนิด แต่ก็ไม่ได้ทำให้หูฟังที่ให้ deep เบสดีๆเสียบุคลิกไป เท่าที่ผมลอง Test กับ Pro 2500 ของ Ultrasone ที่เป็นหูฟังที่ให้ deep เบสที่ดีที่สุดอีกตัวนึง ก็ไม่สูญเสียจุดเด่นไป แต่กลับยิ่งทำให้เสียงเบสมีคุณภาพที่ดีมากขึ้น เพราะตัวแอมป์จะช่วยกระชับเบสให้รวมตัวกัน และวางตำแหน่ง image เบสไว้ค่อนข้างคงที่ และยังช่วยเสริมความไหลลื่นต่อเนื่องของเบสแบบไม่มีอาการห้วนหรือติดขัดให้ รู้สึก การไล่น้ำหนักของเบสแต่ละย่านก็ทำได้ดีมาก ทำให้เบสไม่หนาเท่ากันหมดจนฟังแล้วบวมๆเหมือนพวกแอมป์ถูกๆบางตัว ยิ่งได้สายดีๆมาเสริม จะช่วยให้คุณภาพเบสออกมาดีขึ้นอีก

ตัวแอมป์ noise ค่อนข้างน้อย หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้ แต่ผมไม่มีหูฟังที่ Sensitivity สูงๆมาลอง ก็เลยไม่มั่นใจ แต่เท่าที่ใช้หูฟังที่ตัวเองมีประกอบกับของชา่วบ้าน ก็ยังไม่ได้ยินเสียง noise ให้ได้รำคาญ และด้วยความที่ noise ไม่มี ทำให้ชิ้นดนตรีลอยเด่นและชัดเจนมากขึ้น การ focus ตำแหน่งชิ้นดนตรีไม่มีอาการเขวหรือแกว่ง โดยเฉพาะการแบ่งแยกชิ้นดนตรีในแต่ละส่วน บางเพลงที่วางตำแหน่งของเสียงกระเดื่องไว้ชิดกับทอมและสแนร์มากๆ ถ้าต่อตรงๆจะได้ยินแต่เสียงกระเดื่องเด่นออกมาและมีเสียงทอมเบาๆตามหลัง ปิดท้ายด้วยสแนร์จางๆ แต่พอต่อผ่านกับ voyager ตัวทอม กระเดื่องและสแนร์กลับได้ยินชัดเจนมากขึ้่น ถึงแม้จะอยู่ช่วงใกล้ๆกัน ก็ไม่มีการทับซ้อนของชิ้นดนตรี หรือบางจนฟังได้ยาก ทำให้ฟังได้ง่ายขึ้น

เสียงกลาง Focus ได้เด่นชัด มีน้ำมีนวล มีมวลที่ดี เสียงกลางไม่ได้มีความหนามาก แต่มีความแน่นที่เพิ่มขึ้นจากเดิม และให้รูปร่างของเสียงกลางที่ดีขึ้นกว่าเดิม นักร้องมีความเป็นมิติและจับต้องได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะรายละเอียดของเสียงย่านนี้ที่ไม่ถูกลบหายไปเหมือนเวลาใช้กับแอมป์ บางตัว การเก็บรายละเอียดอย่างเนื้อของเสียงร้อง จังหวะจบช่วงเพื่อสูดลมหายใจเบาๆ และเสียงน้ำลายหนืดๆยามที่เตรียมเผยอปากเปิดเสียงร้องในท่อนต่อไป ทุกอย่างยังได้ยินชัดเจนไม่มีหาย และได้ยินชัดกว่าเดิมเพราะมีการเติมเต็ม dynamic ให้ดีมากยิ่งขึ้น ยิ่งรายละเอียดของน้ำหนักเวลาหวดกลองลงบนทอม หรือ สแนร์ รายละเอียดก็ยังอยู่ครบถ้วน เสียงปลายของแส้สแนร์ก็ยังได้ยินชัดเจน น้ำหนักของทอมแต่ละลูกก็แยะแยกชัดเจนไม่ปะปนกัน บางเพลงที่อัดดีๆ เสียงอย่าง Floor ทอมที่ปรกติผมไม่ค่อยสนใจ ก็ยังได้ยิน ส่วนนึงก็เป็นผลมาจาก noise ที่น้อย และการกระชับเสียงในแต่ละย่าน ทำให้ได้ dynamic contrast ที่ดีขึ้น image ของชิ้นดนตรีจึงมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เป็นแอมป์ที่ใช้กับหูฟังอะไรก็ให้เสียงที่ไพเราะ เพราะโทนของแอมป์ที่มีความนุ่ีมนวล แต่ก็โปร่งใสชัดเจน และมีเบสให้แบบครบเครื่องไม่อั้น เท่าที่ลองกับหูฟังหลายๆตัว ผมรู้สึกว่า มีน้อยตัวมากที่จะไม่เหมาะ ซึ่งหูฟังที่ไม่ค่อยเหมาะกับแอมป์ตัวนี้ก็มีอย่าง Ultrasone HFI-780 และ AKG K701 เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่จะเหมาะมากๆ เป็นแอมป์ที่ฟังง่าย และไปกันได้กับหูฟังส่วนใหญ่ในท้องตลาดเลยทีเดียว



ข้อดี

- พกพาสะดวก ( สำหรับผม )
- ปรับเปลี่ยนแหล่งจ่ายไฟได้หลายแบบ ทั้งจาก หม้อแปลง , USB และ ถ่าน
- แข็งแรง
- เสียงดี สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามรูปแบบของสาย
- แบตอึด


ข้่อเสีย

- ขี้เหร่





ไม่มีความคิดเห็น: