- Full-Size
- Semi Full-Size
- Micro-Size
ทั้งสามส่วนคือกลุ่มของหูฟังในระดับใหญ่ ที่แบ่งตามขนาดของหูฟัง พูดง่ายๆคือ หูฟังทั้งหมดที่วางขายในโลกจะอยู่ใน 3 ส่วนหลักๆนี้ทั้งหมด ซึ่งในแต่ละส่วนก็แบ่งแยกออกเป็นลักษณะประเภทอย่าง Open Type , Semi-Open Type และ Close Type ขึ้นอยู่กับการ Design หูฟังแต่ละตัวที่ทางค่ายนั้นๆออกแบบมา ซึ่งลักษณะของหูฟังแบบต่างๆเหล่านี้มีผลต่อการใช้งาน และเรื่องของเสียงด้วยครับ รายละเอียดปลีกย่อยเดี๋ยวผมบอกทีเดียวในแต่ละส่วนนะครับ เพราะทั้ง Full-Size , Semi Full-Size และ Micro-Size ก็ล้วนมีรูปแบบคล้ายๆกันทั้งหมดครับ
ทีนี้เรามาดูกันว่าในแต่ละส่วนมีอะไรบ้าง......
Full-Size
เมื่อพูดถึง Full-size ก็ย่อมหมายถึงหูฟังที่มีขนาดใหญ่โต โดยอาจจะเป็นหูฟังที่มีลักษณะแบบครอบทั้งใบหู หรือแนบบนใบหูก็เป็นได้ ส่วนมากแล้วหูฟังแบบ Full-Size จะเหมาะสำหรับการใช้งานแบบส่วนตัวและอยู่กับที่ ไม่เหมาะสำหรับการพกพาไปไหนมาไหน ยกเว้นหูฟังที่ต้องใช้งานประเภท Monitor ทั้งหลาย บางตัวจำเป็นต้องพกไปใช้งานเวลาออกงาน PA แต่ก็ยังเป็นการพกพาเพื่อใช้ในสถานที่นั้นๆเท่านั้น
โดยปรกติแล้ว ผู้ผลิตมักจะแบ่งชนิดของหูฟังปลีกย่อยลงไปจากปรกติอีก ซึ่งนอกเหนือจากขนาดแล้ว ยังแบ่งตามความเหมาะสมในการใช้งานของหูฟังนั้นๆด้วย เช่น
~Studio Monitor~
มักจะเป็นหูฟังที่ให้เสียง Balance ที่ดี ไม่ค่อย Color มาก และชัดทุกย่าน ส่วนมากจะไม่เน้นเบสเป็นพิเศษ บางตัวเรียกว่าเบสหายไปเลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นหูฟังที่ออกแบบมาให้ใช้งานในส่วนไหน เพราะการใช้งานใน Studio มีตั้งแต่ การ Mix เสียง , งาน Stage หรือ PA ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปเลยนะครับว่า หูฟังตัวนั้นตัวนี้ ใช้ได้เฉพาะงานนั้นงานนี้เท่านั้น บางทีก็ขึ้นอยู่กับคนใช้ด้วยครับ บางคนก็ชอบเสียงแนวนี้ บางคนชินกับสไตล์นี้ ตรงนี้ก็แล้วแต่ความชอบของคนใช้ครับ โดยมากแล้วหูฟังแบบ Monitor มักจะเป็นลักษณะแบบ Close Type มีบ้างบางตัวที่เป็นแบบ Semi-Open แต่ก็ส่วนใหญ่แบบ Close จะถูกหยิบนำมาใช้มากกว่า เพราะบางทีก็จำเป็นต้องให้มันเก็บเสียงจากภายนอกในระดับนึงครับ หูฟังเด่นๆในตระกูลนี้ก็ได้แก่
Sony MDR-V6
Sony MDR-7509
AKG K240
Sennheiser HD-25
Sennheiser HD280pro
Beyerdynamic DT770 , DT880 และ DT990
Audio-Technica A900 , A950Ltd
~Hi-Fi~
ถือเป็นส่วนที่นิยมมากที่สุด เพราะนักฟังเพลงทั่วไปมักนิยมเลือกหูฟังในส่วนนี้ จะมีบางคนที่ชอบสไตล์เสียงที่ออกแนวแข็งๆและเป็นธรรมชาติ ก็จะเลือกหูฟังในแบบ Monitor มาใช้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเลือกหูฟังแบบนี้ทุกคน และยังเป็นส่วนที่ทางผู้ผลิตให้ความสำคัญในการออกแบบมากที่สุด และยังเป็นส่วนที่มีตัวเลือกมากที่สุดในตลาดอีกด้วย หูฟังส่วนนี้เหมาะสำหรับฟังเพลงทั่วๆไป ไม่เหมาะใช้งานใน Studio เท่าไหร่ เนื่องจากบางตัวนั้นจะค่อนข้าง Color เกินกว่าความเป็นจริง แต่ความ color นี่แหละครับที่ทำให้ฟังเพลงแล้วไพเราะเสนาะหู โดยมากแล้วหูฟังสำหรับ Hi-Fi มักจะเป็นหูฟังแบบ Open Type เพื่อเพิ่มความรู้สึกโปร่ง และสามารถสัมผัสถึง Airy หรือ อาการที่มีอากาศไหลรอดผ่าน image ของชิ้นดนตรีแต่ละชิ้น ทำให้ฟังเพลงแล้วรู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้น หูฟังเด่นๆในส่วนนี้ก็ได้แก่
Sennheiser - HD595 , HD650 , Orpheus
Grado - SR60 , SR225 , RS1 , GS1000 , MS-1 , MS-2 , MS-Pro
Audio-Technica - AD2000 , W5000 , L3000
AKG - K701
STAX - LAMPDA , OmegaII
นอกจากนี้แล้ว ยังมีหูฟังที่ Design มาเฉพาะทางอย่างเช่น Multimedia Headphone ประเภทที่สามารถแยกเสียงออกเป็น Multi Channel ได้ อย่างหูฟัง Creative HQ-2300D ที่ใช้ระบบ Dolby Headphone พร้อม Driver หูฟัง 3 Driver แยกเป็น Tweeter , Mid-Range และ Bass ซึ่งจะมีตัวควบคุมในการแยกสัญญานให้เป็น 5.1 Channel มาพร้อมใน set ด้วย อันที่จริงแล้วในตลาดก็ยังมียี่ห้ออื่นๆที่ทำออกมาแข่งขันกันอย่างเอาเป็น เอาตายอีกด้วย อย่างเช่น Exsound Starfish 7.1 , Zalman 7.1 ที่มีราคาถูกกว่า HQ-2300D ( แต่คุณภาพเสียงยังด้อยกว่าหน่อย ) อีกทั้งยังมีหูฟังประเภท Wireless หรือไร้สาย ออกมาด้วย แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ เนื่องจากมีราคาสูง และคุณภาพเสียงยังไม่คุ้มต่อราคา
นอกเหนือจากยี่ห้อที่กล่าวมา ยังมีอีก Brand หนึ่งที่มุ่งเน้นในตลาดนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง Brand นั้นก็คือ Ultrasone ที่มาพร้อมเทคโนโลยี S-logic ข้อแตกต่างของ Ultrasone กับยี่ห้ออื่นๆคือ Ultrasone ไม่ได้เน้นในเรื่องของ Multi Channel ดังนั้นจึงไม่มี Adaptor ในการแปลงสัญญานแถมมาให้ด้วย แต่จะไปเน้นในเรื่องการออกแบบให้หูฟังสามารถสร้างมิติกว้างขวางโดยไม่ต้อง ใช้เครื่องแปลงให้เสียเวลา ดังนั้นหูฟังของ Ultrasone ที่มี S-Logic แปะอยู่ ก็จะให้เสียงได้รอบทิศทางเหมือนกับในโรงหนัง โดยที่เป็นเสียงรอบทิศทางที่เป็นธรรมชาติกว่าของพวกหูฟังแบบ 5.1 Channel ครับ
หูฟังประเภทนี้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีห้องกว้างๆและอยากดูหนังระบบ 5.1 แบบเต็มอิ่มและไม่รบกวนใคร
Semi Full-size
หูฟังแบบ Semi Full-size จะเป็นหูฟังที่มีขนาดเล็กกว่า Full-Size พอสมควร เป็นหูฟังที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถพกพาไปฟังข้างนอกบ้านได้โดยสะดวก เท่าที่ผมเคยอ่านมารู้สึกว่า ตัว Semi Full-Size นั้น จะปรากฏโฉมครั้งแรกพร้อมกับ player ในระดับตำนานอย่าง Sony Walkman รุ่นแรกเลยครับ หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาออกมาเรื่อยๆตามลำดับ จนปัจจุบันนั้น ถือว่าหูฟังแบบ Semi Full-Size มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกมากมาย ซึ่งจุดเด่นของ Semi Full-size ก็คือ ให้มิติใกล้เคียงกับความเป็น Full-Size แต่สามารถติดตัวไปไหนมาไหนได้แบบสบายๆ บางรุ่นออกแบบ Case ใส่ออกมาได้ดีมากๆ ทำให้การพกพายิ่งสะดวกมากยิ่งขึ้น
การแบ่งแยกหูฟังในส่วนนี้ จะแยกตามรูปแบบการ design ของหูฟัง โดยส่วนใหญ่จะแยกออกเป็น
Street Style / Earpad Headphone ( On The Ear )
โดยปรกติแล้ว หูฟังประเภท Street Style กับ Earpad Headphone จะถูกแบ่งแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด เพราะลักษณะที่แท้จริงของ Street Style คือ ต้องเป็นหูฟังที่มีก้านเชื่อมหูฟังทั้งสองข้างอ้อมไปทางด้านหลังหัว หรือที่เรียกกันว่า “ Neckband ” ในขณะที่ตัว Earpad Headphone จะเป็นก้านแบบคาดหัวที่เรียกกันว่า “ Headband ” แต่ปัจจุบัน ผู้ผลิตเริ่มนำมาใช้เรียกรวมๆกันว่าเป็น Street Style ทั้งหมด ซึ่งอันที่จริงผมว่า ควรจะเรียกแยกออกจากกันจะดีกว่า เพราะรูปแบบมันไม่ได้เหมือนกันเอาซะเลย และถ้าเรียกแยกจากกัน ผมว่า เวลาพูดถึงหูฟังทั้งสองอย่างจะทำให้อีกฝ่ายที่เราคุยด้วย เข้าใจง่ายขึ้นกว่าเดิม เรียกรวมๆกันแบบนี้บางทีก็สับสนเหมือนกันนะครับ
หูฟังแบบ Street Style ผมยังหาข้อมูลจุดเริ่มต้นงาน design แบบนี้ไม่ได้ แต่โดยส่วนตัวเท่าที่ค้นหาหลักฐานย้อนหลังมา เชื่อว่า น่าจะเป็นการพัฒนามาจาก Clip-Ear มากกว่าที่จะเป็นการพัฒนาจาก Earpad Headphone ถึงแม้ว่าหูฟังแบบ Semi Full-Size ที่กำเนิดมาครั้งแรกจะเป็นแบบ Earpad Headphone ก็ตาม ซึ่งถ้าดูจากวิธีการใส่ของหูฟังแบบ Street Style หลายๆคนก็คงเข้าใจว่าทำไมผมถึงคิดเช่นนั้น
ส่วนมากหูฟังแบบ Street Style จะเหมาะกับงานประเภท Outdoor หรือ การออกกำลังกายมากๆ เพราะหูฟังจะล๊อคติดกับหูเราได้แน่นสนิท เวลาที่เราออกกำลังกายทั่วๆไปอย่างเช่น จ๊อคกิ้ง , ขี่จักรยาน และอื่นๆ ตัวหูฟังจะไม่หลุดออกง่ายๆ ผิดกับหูฟังประเภท Earpad Headphone ที่เน้นการใช้งานในลักษณะที่นุ่มนวลกว่านั้น และมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่านั้น เนื่องจากจุดอ่อนของการคาดหัวแบบ “ Headband ” ที่ถ้าเกิดมีการเคลื่อนไหวมากๆ อาจจะหลุดได้ง่ายๆ ถึงแม้จะออกแบบให้รัดได้แน่นแค่ไหน ก็ยังคงสู้การล๊อคเข้าที่ก้านหว่างหูแบบ Street Style ไม่ได้ครับ ดังนั้น หูฟังแบบ Earpad Headphone จึงเหมาะจะใช้เวลาเดินทางไปไหนมาไหนแบบสบายๆ เช่น ขึ้นรถไฟฟ้า , นั่งรถเมล์ หรือเดินบนท้องถนนทั่วๆไป หูฟังเด่นๆในส่วนนี้ก็ได้แก่
KOSS - Portapro , Sportapro ( ตัวนี้สามารถเปลี่ยนเป็น Street Style และ Earpad ได้ )
Audio-Technica - ESW9 , ES7
Grado - iGrado
AKG - K412p
Clip-On / Clip-Ear
KOSS - KSC35 , KSC75
Audio-Technica - EM9r , EM9d , EM700ti
และด้วยอนิงสงค์ของ iPOD และ PMP Player ที่สามารถดูหนังแบบพกพาไปไหนมาไหนได้ ทำให้มี Earpad Headphone และ Street Style สำหรับการชมภาพยนตร์ออกมาด้วย ซึ่งแน่นอน เป็นตัวที่มาจากค่าย Ultrasone เช่นเดิม โดยตัวที่เด่นของทาง Eadpad Headphone ของค่ายนี้ก็คือ HFI-15G ส่วนตัวที่เป็น Steet Style ก็เป็น iCAN
Micro-Size
หูฟังประเภท Micro Size เป็นหูฟังที่ถูกพัฒนาลงมาจาก Semi Full-size เพื่อให้สามารถพกพาได้ง่ายขึ้น และใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งในท้องตลาดปัจจุบันถือได้ว่าเป็นหูฟังที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดใน บรรดาหูฟังทุกประเภท และมียี่ห้อที่หลากหลายมากที่สุด แต่ก็เป็นหูฟังที่ทำให้มีคุณภาพดีได้ยากที่สุดเช่นเดียวกัน เพราะขนาด Transducer ที่เล็กมาก และระยะที่ใกล้ชิดกับหูมากๆ ทำให้การออกแบบเพื่อได้มิติที่ดีนั้นทำได้ยากมากเลยทีเดียว ดังนั้นหูฟังที่เด่นๆจริงๆจึงมีเพียงไม่กี่ยี่ห้อ และไม่กี่รุ่น
หูฟังแบบ Micro-Size นั้นสามารถแยกย่อยออกมาได้ 3 ประเภทหลักๆ โดยแบ่งออกเป็น Earbud , In-Ear และ Hybrid ซึ่งเป็นหูฟังที่ผสมผสานระหว่าง In-ear และ Earbud เข้าด้วยกัน ดังนั้นเรามาเริ่มกันที่หูฟังที่เป็นที่นิยมที่สุดในท้องตลาดขณะนี้ก่อนเป็น อันดับแรกครับ
Earbud
แต่ก็อย่างที่ผมเกริ่นไว้ก่อนแล้ว หูฟังแบบ Earbud นั้นถือว่าเป็นหูฟังที่ออกแบบให้ดีได้ยากมากๆ เพราะข้อจำกัดในเรื่องขนาดและระยะของเสียงจาก Driver ไปยังแก้วหูนั้น มันใกล้มากเกินไป ดังนั้นหูฟังโดยทั่วๆไปที่วางขายกันอยู่โดยเฉพาะของ no name หรือของจีนแดง มักจะให้เสียงที่ไม่ดีจนคนที่ไม่ได้มีหูทองก็สามารถแยกออกได้ง่ายๆ แถมคุณภาพการผลิตก็แย่ ใช้งานได้ไม่เท่าไหร่ก็มักจะพังเอาง่ายๆ ไม่สายขาดในก็ driver หลุดออกมาจาก Housing ดังนั้นการเลือกหูฟังประเภทนี้ควรดูพวก Brand ที่มีชื่อเสียงไว้ก่อน และค่อยลองฟังเสียงก่อนจะตัดสินใจซื้อมาก เพราะจะช่วยให้อัตราการเสี่ยงที่เจอหูฟังด้อยคุณภาพลดลงไปเยอะครับ หูฟังในส่วนนี้ที่เด่นๆก็มี
Sennheiser MX400 , MX500, MX90VC
Sony MDR-E888
Yuin PK3 , PK2 และ PK1
Audio-Technica CM700 , CM700ti
Soken AS-800
จะว่าไป ตลาดหูฟังของ Earbud ผมถือว่าเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดนะครับ เรียกได้ว่านำหน้าตลาดของหูฟังในส่วนอื่นๆเลยทีเดียว เนื่องจากหูฟังประเภทนี้ หาซื้อง่าย ราคาถูก และมีหลากหลายยี่ห้อให้เลือก แถมยังคุ้นเคยเพราะอยู่คู่กับเครื่องเล่นแบบพกพามาช้านาน คนที่ใช้ก็สบายใจมากกว่าจะใช้เป็นพวกยัดหูแบบ In-ear เพราะบางคนจะค่อนข้างกลัวเรื่องเอาหูฟังยัดเข้าไปลึกๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว หูฟังแบบ Earbud ที่ใช้ๆกันก็จะเป็นหูที่แถมมากับเครื่องเล่น MP3 ทั้งนั้นแหละครับ
และด้วยความที่เป็นหูฟังที่อยู่ในตลาดมาช้านาน ดังนั้น มันก็ย่อมมีสิ่งที่เรียกว่า “ ของในตำนาน ” ครับ
ถ้าจะพูดถึงหูฟังที่เหมาะจะใช้คำว่าตำนานของระดับ Full-Size ก็คงจะเป็นหูฟังที่เลิกผลิตไปแล้ว แถมยังหาซื้อได้ค่อนข้างยากด้วย เช่น
- สาย Sony ก็จะเป็น Sony CD3000 , Sony Qualia 010 และ Sony R10
- สาย Grado ก็น่าจะเป็น Grado PS-1 , PS-2 และ Grado HP-1000
- สาย Audio-Technica ก็จะเป็น ATH L3000 และ ATH W2002
- สาย Sennheiser ก็คงเป็น Orpheus ตัวเดียวเลยล่ะครับ
- สาย AKG ก็เป็น AKG K1000 และ AKG K340
แต่ถ้าเป็นระดับ Earbud ก็คงจะต้องยกให้ Sony กับ Aiwa ที่เป็นเจ้าผู้ครองตลาดสมัยเทปเพลงยังโด่งดังกับเครื่องเล่นพกพาที่เรียกกันว่า ซาวน์อะเบ้าท์ หรือ Walkman นั่นแหละครับ ซึ่งทั้งคู่ก็มีหูฟังที่เรียกว่า “ทรงคุณค่า” อยู่คนละตัวคือ
- Sony MDR E-484
- Aiwa HP-V99 , Aiwa HP-D9
ผมเองก็เคยฟังแค่ตัวเดียว นั่นก็คือ E-484 ซึ่ง ถ้าจะพูดกันเฉพาะเนื้อเสียง จะมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ Westone UM2 ครับ แต่ในแง่ของมิตินี่ ไม่เหมือนใครเลยครับ เพราะให้ image ใหญ่ soundstage กว้าง และมีความเป็น 3 มิติเอามากๆ แต่ติดตรงเสียงกลางจะขุ่นๆนิดแต่ก็ไม่หนักหนาเท่า UM2 เพระาอย่างน้อยย่านสูงก็ยังมีความใสกว่าครับ ส่วน Aiwa นี่ยังไม่กล้าฟันธง เพราะตัวที่เคยลองเก่าไปนิดนึงครับ ต้องของลองดูตัวที่สภาพสมบูรณ์กว่านี้อีกหน่อยค่อยว่ากันใหม่
อีกตัวนึงของ Sony ที่กำลังจะกลายเป็นตำนาน ( หรือหาซื้อไม่ได้อีกแล้ว ) ก็คือ Sony MDR-E888 ครับ ตัวนี่จะให้เสียงที่หวานใสและเบสนุ่ม เหมาะสำหรับฟังเพลง Pop และเพลง Jazz เอามากๆครับ ปัจจุบันเห็นว่ากำลังจะเลิกผลิตแล้ว เพราะจากอดีตที่เคยมีเวอร์ชั่นอย่าง Made in Japan แล้วก็กลายมาเป็น Made in China จนตอนนี้ผมเจอแบบ Made in Thailand แล้วครับ คาดว่าคงได้หายไปจากตลาดในไม่ช้านี้ เพราะมีรุ่นน้องคนใหม่อย่าง Sony EX90 ขึ้นมาแทนที่แล้วครับ ใครอยากได้ก็รีบๆหาซื้อมาเก็บไว้แล้วกันครับ
ในส่วนของ Micro-size นั้น นอกจากจะมี Earbud แล้ว ก็ยังมีอีกส่วนที่กำลังเป็นกระแสที่มาแรงในขณะนี้ นั่นก็คือ IEM หรือ หูฟังแบบ In-ear นั่นเองครับ
In-ear ( IEM )
หูฟังประเภท In-ear นั้น แรกเริ่มเดิมที ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานใน Studio , Stage และ PA เป็นหลัก เพราะความที่มันมีระบบ isolation หรือ การเก็บเสียงที่ดี เหมาะสำหรับใช้งานที่ที่อึกทึกเอามากๆเลยทีเดียว ดังนั้นในยุคแรกๆมันจึงได้ใช้ชื่อว่า IEM หรือ In Ear Monitor นั่นเอง เพราะส่วนใหญ่เค้าจะเอามาใช้งานด้านเสียง มากกว่าเอามาฟังเพลง โดยผู้ผลิตเจ้าแรกๆก็คงจะเป็น Shure นี่แหละครับ ซึ่งทางในตอนนั้นทาง Shure ก็ได้ว่าจ้างบริษัท Westone ให้ผลิตหูฟังในชื่อว่า Shure E1C ออกมา และต่อมาในภายหลัง Westone ก็ออกหูฟังของตัวเองในชื่อ UM1 และ UM2
หลายๆคนมักจะกลัวว่า หูฟังแบบ In-ear จะก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าหูฟังประเภทอื่น แต่อันที่จริงแล้ว ถ้าพูดถึงความอันตรายนี่ ก็พอๆกันทุกแบบแหละครับ ขึ้นอยู่กับการใช้งานมากกว่า ถ้าเปิดดังเกินไป ไม่ว่าจะหูฟังแบบไหนมันก็สร้างปัญหาให้กับเราได้ทั้งนั้นแหละครับ ผมว่า แบบ In-ear จะปลอดภัยกว่าหน่อยด้วยซ้ำ เพราะเราไม่ต้องเปิดเสียงดังแข่งกับเสียงรอบข้างเรา ทำให้เราฟังเพลงได้เพราะขึ้นโดยไม่ต้องเปิดเสียงดัง หูเราก็จะอยู่คู่กับเราไปได้อีกนานเลยล่ะครับ หูฟังที่เด่นๆในส่วนของ In-ear ก็จะมี
Ultimate Ears - Super.fi 3 live , Super.fi 4 , Super.fi 5 pro และ Triple.fi 10 pro
Westone - UM2
Shure - E3C , E4C , E5C และ SE530
Etymotic - ER4P, ER6i
Creative - EP630
Philips - SHE9700
Sennheiser - CX300 , CX500
Crossroad - Mylarone X3
Soundmagic - PL11, PL12 , PL30
SONY - MDR-EX500 , MDR-EX700
Jays - qJAYs
Altec-Lensing - IM716
นอกเหนือจากหูฟังในแบบ Mass Production แล้ว ยังมีหูฟัง In-ear แบบที่ Build by order ในลักษณะที่เป็นหูฟังแบบพอเหมาะพอเจาะกับหูของเราเป๊ะๆ ในชื่อว่า Custom In-ear ซึ่ง ตอนนี้กำลังเริ่มเป็นที่นิยมในระดับนึงเลยทีเดียว เพราะหูฟังแบบนี้จะเสียบเข้าพอดีกับหูเราและจะค่อนข้างเก็บเสียงได้ดีกว่าพวกที่ใช้ Housing แบบ Universal ที่วางขายในท้องตลาดทั่วๆไป
แต่เนื่องจาก Custom In-ear มีราคาสูง ฟังได้แค่คนเดียว แถมยังขายต่อไม่ได้อีก ทำให้คนที่นิยมก็ยังอยู่กันในแค่วงแคบๆเท่านั้นครับ เห็นว่าอีกไม่นานจะมีหูฟังแบบ Custom ของคนไทย ก็หวังว่าจะออกมาไม่แพง และช่วยให้คนที่เล่นหูฟังมีทางเลือกมากขึ้นนะครับ
การเลือกซื้อหูฟังซักตัว นอกเหนือจากเรื่องเสียงและ Design แล้ว เราก็ควรจะดูด้วยครับว่า ส่วนใหญ่เราใช้งานในลักษณะไหน เช่น ออกนอกบ้านบ่อยๆ ใช้ข้างนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ ก็ควรใช้หูฟังแบบ Semi-Fullsize หรือ Micro-Size ไปเลย หรือ ถ้าอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ก็น่าจะหา Full-size ดีๆซักตัว ใส่สบายๆจะดีกว่าครับ จริงๆของพวกนี้ก็ไม่ได้มีกฎกำหนดตายตัวว่าจะใช้อะไรแบบไหนที่ไหนยังไง เพราะผมยังเคยเห็นคนใส่ Full-Size เดินขึ้นรถเมล์หน้าตาเฉย แต่ถ้าเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน เราจะมีความสุขกับการฟังเพลงได้มากกว่าครับ
5 ความคิดเห็น:
ขอบคุณครับ สาระดีมีประโยชน์
สุดยอดอะครับพี่จีเจ็ด !!
ทำออกมาได้น่าอ่าน และมีประโยชน์มากๆๆๆ หลายๆเรื่องเล่นหูฟังมาตั้งนานยังไม่รู้เลย
เก็บไว้อ่านกันได้ถึงรุ่นลูกหลานเลยนะเนี่ย 555+
ขอบคุณมากครับผม อ่านแล้วได้ความรู้ขึ้นเยอะเลยครับ
ขอบคุณมากครับผม อ่านแล้วได้ความรู้มากๆ
สุดยอดมากครับ
เห็นด้วยเลยครับ ที่ว่า เก็บไว้ให้อ่านได้ถึงรุ่นลูก :D
แสดงความคิดเห็น